วิธีการอัดพอดแคสต์ทางไกล ให้คุณภาพออกมาเหมือนนั่งอยู่ด้วยกัน (แบบไม่ต้องลงทุน)

tl;dr
สำหรับการอัดพอดแคสต์ทางไกล ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับโคโฮสต์หลาย ๆ คน หรือสัมภาษณ์คนอื่น แนะนำให้ใช้ Online (Real-Time) Collaboration Tools และการอัดเสียงแบบแยกแทรค (ด้วย Tool เช่น Zencastr) เพื่อแก้ปัญหาการประสานงาน และคุณภาพในการบันทึกเสียง

Photo by Thomas Le on Unsplash

อาจจะเป็นเพราะผู้คนส่วนใหญ่มีเวลามากขึ้นจากการอยู่บ้าน ทำ Social Distancing จากผลกระทบของ Covid-19 จึงมีผลงานจากความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นมามากมายบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนบทความ เขียนบล๊อก (Blog) ทำ Vlog ไลฟ์ตามช่องทางต่าง ๆ ฯลฯ แน่นอนว่าพอดแคสต์ (Podcast) ซึ่งเป็นสื่อช่องทางหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมในประเทศไทยในช่วงหลัง ๆ ก็ได้รับอานิสงส์ (หรือผลกระทบก็ไม่แน่ใจ) จากปรากฎการณ์นี้ด้วยเช่นกัน หากอยู่ในกลุ่ม Podcast and Podcaster Thailand จะเห็นได้ชัดเลยว่ามีพอดแคสต์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาแทบจะทุกวันในช่วงเวลานี้

คำถามที่พอดแคสเตอร์หน้าใหม่ และขาประจำหลาย ๆ คนสงสัยคือ

"ถ้าไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้วจะอัดพอดแคสต์ได้อย่างไร?"

สำหรับพอดแคสต์ที่ดำเนินรายการหลายคน ส่วนใหญ่น่าจะคุ้นชินกับการสนทนากับโคโฮสต์ (Co-Host) แบบที่เจอกันตัวเป็น ๆ ทำให้นึกไม่ออกว่า หากไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว จะดำเนินรายการกันอย่างไร?

ปัญหาที่พบเจอ

จากที่ได้คุยกับหลาย ๆ คน ผมสรุปปัญหาได้ออกมาเป็น 3 หัวข้อใหญ่ ๆ ได้แก่

  • ปัญหาในการประสานงาน
  • ปัญหาในการคุยทางไกล
  • ปัญหาคุณภาพและการอัดเสียง

ปัญหาในการประสานงาน

นอกเสียจากว่าพอดแคสต์นั้นเป็นพอดแคสต์ที่พูดสดทั้งรายการโดยไม่ได้มีการเตรียมหัวข้อหรือประเด็นล่วงหน้า การเตรียมเนื้อหาจะช่วยให้การดำเนินรายการลื่นไหล ไม่ต้องพะวงว่าจะตกหล่นประเด็นสำคัญ และช่วยให้เราและโคโฮสต์รู้ว่าจะต้องส่งเข้าประเด็นอะไรต่อไป

สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้คือ Online (Real-Time) Collaboration Tools นั่นเอง เจ้า Tools พวกนี้จะช่วยให้เราสื่อสารกับโคโฮสต์ของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในช่วงเวลาการเตรียมเนื้อหา และระหว่างการอัดพอดแคสต์

ในระหว่างการเตรียมเนื้อหา สิ่งที่เราพิมพ์หรือเขียนลงไปใน Tools เหล่านี้ จะแสดงผลให้ทุกคนเห็นพร้อมกัน ทำให้การสื่อสารชัดเจน ลดปัญหาของความเข้าใจผิดระหว่างกัน และในระหว่างการอัดพอดแคสต์ Tools เหล่านี้ จะทำให้การเพิ่มประเด็น หรือสลับลำดับหัวข้อนั้นทำได้โดยง่าย

Online (Real-Time) Collaboration Tools มีอยู่มากมายในตลาด ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบของ Freemium ซึ่งแต่ละตัวก็มีรูปร่างหน้าตา ความถนัดมือ และข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่นั้นสามารถใช้แก้ปัญหาในการประสานงานได้อย่างแน่นอน

ตัวอย่างของ Online (Real-Time) Collaboration Tools ได้แก่ . . .

ปัญหาในการคุยทางไกล และปัญหาคุณภาพและการอัดเสียง

จะว่าเป็นปัญหาก็ไม่เชิง เพราะว่าทุก ๆ คนสามารถโทรหรือคอลหากันพร้อมอัดเสียงได้อยู่แล้วผ่านไลน์ หรือโทรศัพท์ปกติ แต่ปัญหาก็คือความเสถียรของสัญญาน และคุณภาพเสียงที่ออกมานั้นจะมีความละเอียดต่ำ ทำให้รู้สึกหงุดหงิด ไปจนถึงฟังไม่รู้เรื่องได้

วิธีแก้ปัญหานี้มีหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีนั้นมีความยากง่าย และความยืดหยุ่นในการปรับแก้ไขไฟล์เสียงที่แตกต่างกัน ผมขอแนะนำ 3 วิธีที่คิดว่าทำได้ง่ายที่สุด และไม่ต้องลงทุนอุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมครับ

ใช้ Zoom ในการโทร/คอล และอัดเสียง

Zoom เป็นแพลตฟอร์มซึ่งกำลังเป็นที่นิยมสำหรับการประชุมทางไกล มีความเสถียรที่ดีไม่แพ้เจ้าอื่น ๆ ในตลาด แต่ที่สำคัญคือมีความสามารถในการบันทึกวีดีโอและเสียงระหว่างการสนทนาได้ ซึ่งเราสามารถนำไฟล์เสียงที่บันทึกไว้ในรูปแบบ .m4a มาใช้ในพอดแคสต์ของเราได้ทันที

ข้อเสียของ Zoom สำหรับการบันทึกเสียงคือเรื่องของคุณภาพ โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า Zoom น่าจะเป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่เสถียรที่สุดสำหรับการประชุมทางไกล แต่ว่าความเสถียรของอินเตอร์เน็ตก็ยังเป็นปัจจัยประกอบที่สำคัญ ทำให้เกิดเสียงกระตุกเป็นครั้งคราวระหว่างการสนทนาซึ่งก็จะถูกบันทึกมาด้วยเช่นกัน อีกอย่างหนึ่งคือเสียงที่คุยผ่าน Zoom นั้นจะถูกบีบอัดมาพอสมควร (Compressed) ดังนั้นเสียงที่เราได้มานั้นจะไม่ค่อยเป็นธรรมชาติสักเท่าไหร่ (เมื่อเปรียบเทียบกับอีก 2 วิธีที่กำลังจะแนะนำ)

Zoom - Blue

อัดเสียงแบบแยกแทรค (Multitracking) ด้วย Voice Recorder / Voice Memo

การอัดเสียงแบบแยกแทรคนั้นหมายถึงการที่ต่างคนต่างอัดเสียงของตัวเอง สำหรับรายการพอดแคสต์ที่มีโคโฮสต์อยู่ด้วยกัน 3 คน ผลลัพธ์ที่จะได้ก็คือไฟล์เสียง 3 ไฟล์ ที่แต่ละไฟล์นั้นจะมีเฉพาะเสียงของโคโฮสต์คนนั้นแค่คนเดียว

ยกตัวอย่างวิธีการสำหรับรายการพอดแคสต์ที่มีโคโฮสต์ 3 คน วิธีการคือ โทร/คอลบน Zoom เพื่อคุยโต้ตอบกันบนคอมพิวเตอร์ จากนั้นให้ทุกคนเอาโทรศัพท์มือถือของตัวเองมาตั้งไว้ข้างหน้า พร้อมกดบันทึกเสียง เราก็จะได้ไฟล์เสียง 3 ไฟล์ซึ่งในแต่ละไฟล์ก็จะมีเฉพาะเสียงของโคโฮสต์คนนั้น ๆ อยู่ วิธีนี้จะตัดปัญหาเสียงบันทึกกระตุกซึ่งเกิดขึ้นจากความเสถียรของอินเตอร์เน็ต และคุณภาพเสียงที่ได้นั้นถือว่าดีถึงดีมาก (ขึ้นอยู่กับคุณภาพการอัดเสียงขอโทรศัพท์มือถือแต่ละเครื่อง) ขั้นตอนต่อไปคือการส่งไฟล์ (อาจจะใช้ Google Drive, Dropbox, WeTransfer) ให้คนที่ทำหน้าที่ตัดต่อได้นำเสียงของทั้ง 3 คนกลับมารวมกันเป็นบทสนทนาเดียว ข้อดีของการอัดแบบแยกแทรคอย่างหนึ่งคือ จังหวะที่โคโฮสต์พูดซ้อนกัน (อาจจะเกิดจากความดีเลย์ระหว่างการโทร/คอล) เราสามารถตัดเสียงโคโฮสต์คนใดคนหนึ่งในช่วงนั้นออกได้ ทำให้บทสนทนาฟังดูลื่นไหลมากขึ้นเสมือนกับว่าไม่เคยพูดซ้อนกัน

*หากคุณมีอุปกรณ์ในการบันทึกเสียงอยู่แล้ว (ไมโครโฟน ออดิโออินเตอร์เฟส ฯลฯ) คุณเพียงแค่เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือของคุณเป็นอุปกรณ์บันทึกเสียงที่คุณใช้ ขั้นตอนอื่น ๆ ยังคงเหมือนเดิม

Voice Memo

อัดเสียงแบบแยกแทรค (Multitracking) ด้วย Zencastr

Zencastr เป็นเว็บไซต์สำหรับการอัดเสียงแบบแยกแทรคโดยเฉพาะ ทำให้เราได้ไฟล์เสียงคุณภาพดีถึงดีมากโดยที่ไม่ต้องมีการส่งไฟล์แบบการอัดแยกด้วยโทรศัพท์มือถือของแค่ละคน

ยกตัวอย่างเดิม สำหรับรายการพอดแคสต์ที่มีโคโฮสต์ 3 คน โคโฮสต์หลักต้องสมัคร Zencastr (สมัครฟรี) แล้วสร้างโปรเจคของ Episode ที่จะอัดขึ้นมา เมื่อสร้างเสร็จแล้ว เราจะถูกพาเข้าไปที่หน้าของโปรเจค จากตรงนี้เราสามารถชวนโคโฮสต์ที่เหลือทั้ง 2 คนมาร่วมโปรเจคได้โดยการกด Invite (สามารถชวนได้ทั้งทางอีเมล์และการแชร์ลิ้งค์) เมื่อโคโฮสต์ทั้ง 3 อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันแล้ว ให้กด Start Recording เพื่อทำการบันทึกเสียง และกด Stop Recording เพื่อสิ้นสุดการบันทึกเสียง โคโฮสต์หลักจะเห็นไฟล์เสียงแบบแยกแทรคของโคโฮสต์ทั้ง 3 คนอยู่ที่หน้าโปรเจคของตัวเองพร้อมให้ดาวน์โหลดและนำไปรวมกลับไปเป็นบทสนทนาเดียวตามกระบวนการ

Zencastr มีความสามารถในการโทร/คอลในตัวสำหรับคนที่อยู่ในโปรเจคเดียวกัน ดังนั้นเราสามารถคุยใน Zencastr ได้เลย แต่ถ้าหากต้องการวีดีโอคอล เราก็สามารถใช้ Zencastr ควบคู่ไปกับแพลตฟอร์มหรือโปรแกรมวีดีโอคอลที่เราใช้เป็นประจำได้ด้วยเช่นกัน

ในเรื่องของคุณภาพเสียงของ Zencastr สำหรับแพคเกจการใช้งานแบบฟรีนั้น รูปแบบของไฟล์เสียงที่บันทึกออกมาจะเป็น .mp3 ซึ่งจะมีขนาดไฟล์ที่เล็กกว่าชนิตอื่นและคุณภาพอาจจะด้อยกว่าเล็กน้อย แต่โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าแทบจะไม่มีผลและหากไม่ฟังเทียบกันก็คงจะบอกไม่ได้ถึงความแตกต่าง

Zencastr Logo

สิ่งต่าง ๆ ที่ได้แนะนำไปนั้น ล้วนจะช่วยให้ทั้งการประสานงานระหว่างโคโฮสต์ (หรือแม้แต่แขกรับเชิญ) ทำได้อย่างลื่นไหลไม่สะดุด และคุณภาพเสียงที่บันทึกออกมาดี ไม่เป็นที่หงุดหงิดของผู้รับฟัง ทำให้คุณภาพของรายการพอดแคสต์ดีขึ้น ด้วยเวลาการทำงานที่สั้นลงครับ