แอปพลิเคชันดูคอร์ดเพลงในฝัน [Part 1] – ความต้องการของมือกีตาร์สมัครเล่น

tl;dr
จากอดีตสู่ปัจจุบัน เราดูคอร์ดเพลงอย่างไร แล้วถ้าเราจะมีแอปพลิเคชั่นมือถือไว้สำหรับดูคอร์ดเพลง เจ้าแอปฯ ตัวนี้ควรจะมีความสามารถอะไรบ้าง?

มือกีตาร์สมัครเล่น . . .

มองย้อนกลับไปสัก 15 ปีที่แล้ว อัลบั้มเพลงที่ขายกันตามท้องตลาดยังอยู่ในรูปแบบของหน่วยความจำที่จับต้องได้ด้วยมือ เป็นบั้นปลายของยุคเทปคาสเซ็ท ที่กำลังถูกแทนที่ด้วยซีดี (CD, Compact Disc) แผ่นกลม ๆ มีรูตรงกลาง อาวุธคู่กายของมือกีตาร์สมัครเล่นอย่างผมและผองเพื่อนในวันนั้น ไม่ใช่ iPad และเว็บไซต์คอร์ดเพลงอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นหนังสือคอร์ดเพลง ซึ่งที่ฮิตที่สุดในยุคนั้นก็คงจะหนีไม่พ้น The Guitar Express ที่ออกมาดูดเงินในกระเป๋าเป็นรายเดือน

The Guitar Express - ETC
The Guitar Express - ETC

นักดนตรีผู้ช่ำชองนั้นสามารถเล่นเพลงที่คุ้นหูได้โดยไม่จำเป็นต้องดูคอร์ด เพราะมีความรู้ความเข้าใจถึงโครงสร้างของดนตรี และทางคอร์ดเป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนว่าประกอบด้วยชั่วโมงบินที่ฝึกซ้อมอย่างตั้งใจ ยิ่งถ้าเป็นเพลงป๊อปทั่ว ๆ ไป จะมีโครงสร้างคอร์ดยอดนิยมที่ใช้กันแพร่หลาย ทำให้เราสามารถใช้คอร์ดชุดเดิมแต่เปลี่ยนเนื้อร้องให้ลงกับเพลงต่าง ๆ ได้ แบบที่ Ed Sheeran แสดงให้ดูในรายการ RTN Late Night

Ed Sheeran - 4 Chord Theory

จริง ๆ แล้ว สมัยนั้นใช่ว่าจะไม่มีเว็บไซต์เอาไว้ดูคอร์ดเพลง เพียงแต่ว่ามันยังไม่ใช่ยุคของ Mobile Computer หรือ Smart Phone นั่นเอง (สมัยนั้นใครมี Nokia XpressMusic ก็ถือว่าโคตรเท่แล้ว) ความสัมพันธ์ระหว่างผมกับเว็บไซต์ดูคอร์ดเพลง คือการเข้าไปที่ห้องแลปคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนในตอนเที่ยง ค้นหาคอร์ดเพลงในเว็บ MusicATM แล้วปริ้นออกมาเก็บใส่แฟ้ม

ทางเลือกใหม่ เว็บไซต์คอร์ดเพลง

MusicATM เป็นเพียงเว็บไซต์หนึ่งจากหลาย ๆ เว็บไซต์ที่รวบรวมคอร์ดเพลงเอาไว้ในรูปแบบของเว็บบอร์ด (WebBoard) ทำให้เนื้อหาทั้งหมด รวมถึงคอร์ดเพลงในเว็บไซต์เป็น User Generated Content เวลาที่มีเพลงใหม่ ๆ ออกมา ก็จะมีคนโพสต์คอร์ดเพลงที่ตัวเองแกะลงในเว็บบอร์ด เป็นการแบ่งปันให้กับชุมชนนักดนตรี แต่ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ ด้วยความที่มีนักดนตรีอยู่หลายคนหลายหู แต่ละคนอาจจะแกะเพลงถูกบ้าง ผิดบ้าง หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ต่างคนต่างโพสต์คอร์ดเวอร์ชันของตัวเอง ทำให้เพลงหนึ่งเพลงอาจจะมีคอร์ดเป็น 10 เวอร์ชัน มือกีตาร์สมัครเล่นอย่างผมแทบจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าคอร์ดชุดไหนถูกต้อง เพราะมีตัวเลือกคอร์ดที่ผิด ๆ ถูก ๆ อยู่หลายชุด เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เว็บไซต์เหล่านี้ต้องพ่ายแพ้ให้กับเว็บไซต์ที่เกิดมาขึ้นทีหลังถึง 3 ปี[1] อย่าง Chordtabs ซึ่งมีคอร์ดที่แม่นยำระดับหนึ่งเพียงคอร์ดเดียวต่อเพลง Chordtabs จึงกลายเป็นเว็บไซต์คอร์ดเพลงอันดับ 1 ของไทยในทุกวันนี้ ด้วยยอดการเข้าใช้งานที่สูงถึง 4.31 ล้าน Session เฉพาะในเดือนกันยายน 2019 เพียงเดือนเดียวเท่านั้น ซึ่งคนไทยเข้าเว็บ Chordtabs มากกว่าเว็บฟังเพลงอันดับหนึ่งของโลกอย่าง Spotify เสียอีก![2]

Chordtabs.in.th Analytics - Visit Stats

กลับมาสู่ยุคปัจจุบันที่โทรศัพท์มือถือทำได้แทบจะทุกอย่างจนความสามารถในการโทรศัพท์แทบจะถูกลืม ในยุคนี้หนังสือคอร์ดเพลงซึ่งหนา หนัก เพลงไม่ครบถ้วน ไม่รู้ว่าเพลงไหนอยู่เล่มไหน และหน้าไหน ก็ต้องพ่ายแพ้ให้กับโทรศัพท์มือถือ (และ Tablet) ซึ่งแน่นอนว่าบางและเบากว่า แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เพลงครบ และสามารถค้นหาเพลงได้ง่ายกว่ามาก เพียงแค่พิมพ์ชื่อเพลง ต่อท้ายด้วย "คอร์ด" หรือ "chordtabs" เข้าไปใน Google Search

เช่น
อยากหาคอร์ดเพลง "พูดไม่คิด" ก็พิมพ์ "พูดไม่คิด chordtabs" ใน Google Search เนื้อเพลงพร้อมคอร์ดก็จะปรากฎขึ้นมาตรงหน้าในบัดดล

Google Search - พูดไม่คิด chordtabs
Google Search - พูดไม่คิด chordtabs

ผมเป็นคนหนึ่งที่เปิดเว็บ Chordtabs เป็นประจำ เพราะเบื่อ ๆ อยู่ที่ห้องก็จะหยิบกีตาร์ขึ้นมาเล่น ไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อน ๆ ก็จะหิ้วกีตาร์ติดไปด้วยเสมอ ด้วยความที่ผมมีความสนใจในศาสตร์ของ UX, User Experience (การออกแบบ) ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ทำให้ผมมองเห็นว่า ยังมีช่องโหว่บางอย่างซื่ง Chordtabs ยังตอบโจทย์ได้ไม่ครบถ้วน และสามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปได้อีก

Pain Point ส่วนตัวจากการใช้เว็บไซต์ Chordtabs บนมือถือ

90% ของการค้นหาคอร์ดเพลงของผมนั้นเกิดขึ้นบนโทรศัพท์มือถือ และ iPad โดยเว็บไซต์ที่ผมใช้คือ Chordtabs เพราะนี่คือ Product ที่ดีที่สุดในตลาด ณ วันนี้ . . . ซึ่งแน่นอนว่ามีหลาย ๆ จุดที่สามารถปรับปรุงและพัฒนาได้ จุดอ่อนหรือ Pain Point ที่ผมประสบคือ . . .

การค้นหาคอร์ดเพลงไม่ราบรื่น

85.05% ของผู้ใช้งานเว็บไซต์ Chordtabs ค้นหาคอร์ดเพลงผ่าน Google ด้วยวิธีที่ผมได้อธิบายไว้ข้างต้น[3] (ซึ่งผมก็เป็นหนึ่งในนั้น) เหตุผลเพราะนี่คือวิธีหาคอร์ดเพลงที่ง่ายที่สุด เนื่องจากต่อให้เว็บไซต์ Chordtabs นั้นจะมีความสามารถในการ Search หรือค้นหาเพลงในเว็บไซต์ แต่ปัญหาคือการ Search นั้นไม่ลื่นไหลเท่าที่ควร การหาคอร์ดเพลงผ่าน Mobile Browser นั้นมีทั้งหมดถึง 5 ขั้นตอนกว่าจะไปถึงคอร์ดเพลงที่ต้องการ และแต่ละขั้นตอนอาจจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความเร็วของอินเตอร์เน็ต เพราะทั้ง 5 ขั้นตอนนั้นแยกกันอยู่คนละ Page

1) เข้าเว็บ chordtabs.in.th จาก Web Browser
2) เลือกเมนู "ค้นหาเพลง"
3) พิมพ์ชื่อเพลงที่ต้องการเพื่อทำการค้นหา
4) พิมพ์ชื่อเพลงที่ต้องการเพื่อทำการค้นหา
5) เลือกคอร์ดเพลงจาก Search Result

ด้วยความยุ่งยากนี้ ทำให้ผู้ใช้งานส่วนใหญ่เลือกที่จะทำการค้นหาด้วย Google Search ตั้งแต่ต้น ซึ่งจะลดขั้นตอนลงเหลือ 4 ขั้นตอน อย่างไรก็ดีเราสามารถทำให้กระบวนการนี้เหลือเพียงแค่ 2 ขั้นตอนเท่านั้น เพียงแค่เปลี่ยนจากการใช้งานบนเว็บไซต์ (Web Application) มาเป็นแอปพลิเคชันมือถือ ซึ่งจะทำให้เราสามารถเพิ่มฟีเจอร์เจ๋ง ๆ เข้ามาได้อีกมากมายด้วย!

จริง ๆ แล้วแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะว่า Chordtabs นั้นก็เคยมี Mobile Application เพียงแต่ว่าเจ้าแอปพลิเคชันตัวนี้ไม่ได้ไปต่อใน iOS 11 ในช่วงกลางปี 2017 ด้วยเหตุผลที่คาดเดากัน 2 ประเด็นได้แก่

  • ต้นทุนในการ Maintenance - การทำงานของเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันมือถือนั้นแยกกันโดยสิ้นเชิง การลงทุนทำแอปพลิเคชันมือถือใหม่คือการที่โปรแกรมเมอร์ต้องเขียน Code ใหม่ทั้งหมด เปรียบเสมือนการสร้างบ้านใหม่อีกหนึ่งหลัง พอสร้างเสร็จก็จะมีค่าใช้จ่ายทั้งในการต่อเติม และการบำรุงรักษาซึ่งจำเป็นต้องมีช่างผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ดูแล นั่นคือต้นทุนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและจำเป็นจะต้องจ่ายตลอดไปตราบใดที่แอปพลิเคชันนั้นยังอยู่บน Store สำหรับ Chordtabs ซึ่งมีเว็บไซต์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว และยังไม่มีแนวทางการทำกำไรที่ชัดเจนจากเจ้าแอปพลิเคชั่นตัวนี้ การรักษาแอปพลิเคชั่นตัวนี้ไว้อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย
  • ลิขสิทธิ์เพลงบนสื่อดิจิตอล - เนื้อเพลงถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบหนึ่ง มีลิขสิทธิ์ในฐานะงานวรรณกรรม[4] การเผยแพร่เนื้อเพลงผ่านแอปพลิเคชั่นมือถือนั้นอาจจะก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับลิขสิทธิ์เพลง ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ปี พ.ศ. 2537 โดยมาตรา 27 กล่าวถึงเรื่อง "การละเมิดลิขสิทธิ์" เนื่องจากการแชร์เนื้อและคอร์ดเพลงบนแอปพลิเคชั่นมือถือ ถือเป็นการ "เผยแพร่ต่อสาธารณชน" แต่อย่างไรก็ตาม มาตาร 32 ว่าด้วยเรื่อง "ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์" ซึ่งกล่าวไว้ว่า "การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงาน อันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่า เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์" ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่าจะได้รับการยกเว้นเช่นกัน (เรื่องนี้ค่อนข้างจะกำกวม เพราะว่าการเผยแพร่นั้นไม่ได้เผยแพร่เพลงโดยตรง แต่เป็นเนื้อและคอร์ดเพลงที่แกะมาแล้ว แถมยังต้องถกกันถึงเรื่อง Fair Use อีกด้วย)
Discontinuation of Chordtabs Mobile Application

มาถึงตรงนี้ ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าทางออกสำหรับ Pain Point ของผมคือแอปพลิเคชั่นมือถือสำหรับการดูคอร์ดเพลง ซึ่งทำให้กระบวนการค้นหาคอร์ดเพลงนั้นทำได้ง่ายและไม่มีสะดุด แน่นอนว่าถ้าเกิดทำเป็นแอปพลิเคชั่นออกมาจริง ๆ ก็คงจะต้องเจอปัญหาเดียวกับ Chordtabs Mobile Application แน่นอน . . . แต่ทว่าตอนนี้ เราอยู่ในขั้นตอนของการฝันและการออกแบบ เราสามารถที่จะจินตนาการอะไรก็ได้ จะเกิดเป็นแอปฯ ขึ้นจริงมั้ยให้มันเป็นเรื่องของอนาคต 🙂

Feature ที่ "ถ้ามีก็ดีนะ" (Good to have)

Pain Point คือปัญหาใหญ่ของการใช้งาน แต่นอกจากปัญหาใหญ่แล้ว ยังมีอีกหลาย ๆ Feature ของแอปพลิเคชั่นมือถือที่ไม่ถึงขึ้นที่ว่าจำเป็นต้องมี แต่สามารถเป็นหมัดเด็ดได้ เช่น

  • Playlist คอร์ดเพลง - เหมือนกับแอปพลิเคชั่นฟังเพลงที่มี Playlist หลากหลายรูปแบบ เช่น เพลงรัก เพลงเศร้า ไปเที่ยวทะเล เพลงฮิตติดชาร์ท เป็นต้น คงจะดีถ้าจะมี Playlist ของคอร์ดเพลงให้เราเลือกเล่นได้ตามอารมณ์
  • สร้าง Playlist ส่วนตัว - จริง ๆ แล้วถือว่าเป็น Feature พื้นฐานของทุก ๆ แอปพลิเคชั่น ที่จะให้เราสามารถเลือกรายการที่เราใช้งานประจำเพื่อให้เราสามารถเข้าถึงมันได้ง่าย คอร์ดเพลงก็เช่นกัน นักดนตรีอาชีพน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลังของ Feature นี้
  • สุ่มเพลง - หลาย ๆ ครั้งที่หยิบกีต้าขึ้นมา แล้วก็เล่นเพลงเดิม ๆ ซ้ำไปซ้ำมาเพียงเพราะแค่นึกเพลงอื่น ๆ ไม่ออก ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็รู้จักเพลงมากพอสมควร
  • ค้นหาเพลงจากเนื้อเพลง - บางครั้งเรามีเพลงที่ติดหูจากที่ไหนสักแห่ง แต่ว่าเราไม่รู้ว่าเพลงชื่ออะไร เป็นของใคร เราจึงต้องลองค้นหาเนื้อเพลงจาก Google Search ซึ่งคงจะดีถ้าเราสามารถหาคอร์ดเพลงได้จากเนื้อร้องที่ติดหู
  • No Hand Scroll - เนื้อเพลงและคอร์ดเพลงส่วนใหญ่นั้นมีความยาวล้นเกินขนาดของหน้าจอโทรศัพท์มือถือ (หรือ Tablet) โดยปกติแล้วเราต้องละมือจากกีตาร์เพื่อเลื่อนหน้าจอไปยังเนื้อเพลงท่อนถัดไป หากหน้าจอเลื่อนได้เองโดยที่ไม่ต้องใช้มือสัมผัสจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้
  • Transpose คีย์เพลง - เพราะเส้นเสียงหรือช่องเสียงของคนเรานั้นต่างกัน ไม่ใช่ทุกคนที่จะร้องเพลงได้อย่างพี่แหลม วง 25 Hours จะดีมากถ้าแอปพลิเคชั่นสามารถ Transpose คีย์ของเพลงขึ้น หรือลงให้เหมาะกับเส้นเสียงของเราได้ ให้ผู้ชายร้องเพลงคีย์ผู้หญิงได้ถึง และให้ผู้หญิงร้องเพลงผู้ชายได้สบาม
  • ปรับความซับซ้อนของคอร์ด (Chord Complexity) - เพลงบางเพลงถือเป็นเพลงปราบเซียน เพราะในเพลงนะประกอบไปด้วยคอร์ด "ท่ายาก" อยู่มากมาย ซึ่งแน่นอนว่าคอร์ดเหล่านี้เป็นเอกลักษณ์ และเพิ่มอรรถรสให้กับตัวเพลง เพียงแต่ว่าสาหรับมือสมัครเล่น บางคอร์ดนั้นอาจจะเกินความจำเป็น (กดไม่เป็นนั่นเอง) ดังนั้นถ้าเราสามารถปรับคอร์ดในเพลงให้เป็น "Easy Mode" โดยใช้คอร์ดทดแทนที่เล่นง่าย ๆ ได้ก็จะดีกับมือกีต้ามือใหม่อีกหลาย ๆ คน
  • วิธีการจับคอร์ด (Finger Placement) - แสดงวิธีการจับคอร์ด สอนวิธีการจับคอร์ด เป็น Feature ที่เหมาะสำหรับมือกีต้าสมัครเล่นอย่างแท้จริง

ขั้นต่อไป

ย้ำว่าสิ่งที่ได้เล่าไปคือความต้องการส่วนตัวของผมซึ่งเป็นเพียงแค่ผู้ใช้งานคนหนึ่ง การหาความต้องการของผู้ใช้งานจริง ๆ นั้นจะต้องมีการทำ User Research โดยคร่าว ๆ คือการไปคุย สัมภาษณ์ เก็บความต้องการของผู้ใข้งาน ว่าติดใจกับปัญหาอะไรบ้าง หรือมีอะไรบ้างที่อยากให้ปรับปรุงแก้ไข พอได้ Requirement หรือความต้องการของผู้ใช้ครบถ้วนแล้ว ต่อมาคือการออกแบบแอปพลิเคชั่นของเรา!

 

*ใครรู้สึกว่า อยากให้เจ้าแอปฯนี้ทำอะไรได้ หรือมีไอเดียร์ Feature เจ๋ง ๆ สามารถแชร์กันได้นะครับ 🙂

 

See you in Part 2 . . .

Footnote

[1] MusicATM Publish ครั้งแรกปี 2003 ส่วน Chordtabs Publish ครั้งแรกปี 2006 - อ้างอิง Snapshot จาก Wayback Machine

[2] อ้างอิงข้อมูล Top website listing จาก SimilarWeb

[3] Traffic 85.05% (2019-10-18) ของ Chordtabs มากจาก Search อ้างอิงจาก SimilarWeb

[4] พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 - กรมทรัพย์สินทางปัญญา

2 thoughts on “แอปพลิเคชันดูคอร์ดเพลงในฝัน [Part 1] – ความต้องการของมือกีตาร์สมัครเล่น”

  1. geolojazz ?

    สามารถใช้งานแบบ offline ได้ครับ ส่วน feature ที่เหลือก็ตามในบทความเลยครับ ทำเลยๆๆๆ

  2. ทำงาน Offline ได้นี่เป็น Feature ที่น่าสนใจมาก ขอบคุณมากเลยครับ

Comments are closed.