Is Music Art or Science?

Robot Musician
Robot Musician

“The AI composers made me think whether music is a science or an art form …”

ประโยคบอกเล่าแกมถกประเด็นกันผ่านตัวหนังสือระหว่างผมกับอาจารย์ที่เคารพรักบน Facebook Wall

โดยพื้นฐานแล้ว ผมโตมาในครอบครัวที่เรียกได้ว่าเป็นครอบครัวนักวิทยาศาสตร์ คุณพ่อคุณแม่ผมจบการศึกษาและประกอบอาชีพที่เกี่ยวของกับวิทยาศาสตร์ ตอนเรียนมัธยมผมก็เลือกลงเรียนวิชาที่หนักไปทางวิทยาศาสตร์ เข้ามหาลัยฯก็เรียนวิศวกรรมศาสตร์ (อยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์) เรียกได้ว่าสภาพแวดล้อมนั้นบ่มเพาะให้เป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างไม่ยากเย็นนัก

ในมุมกลับกัน ผมเป็นคนที่ความสามารถในการวาดรูปแทบจะเป็นศูนย์ เป็นคนที่เรียนวิชาศิลปะได้ที่โหล่ของห้องตลอดมา ถ้าเล่าเพียงเท่านี้ ก็คงจะพูดได้ว่าผมเป็นคนที่ไร้ความสามารถทางด้านศิลปะ แต่จริง ๆ แล้ว ผมมีสิ่งหนึ่งที่ผมหลงไหลมาตั้งแต่เด็ก คนทั่วไปมองว่ามันคือศิลปะ สิ่งนั้นก็คือ “ดนตรี” ผมเป็นทั้งผู้ฟัง และผู้เล่น ทำให้ผมมีความเข้าใจศาสตร์ด้านนี้อยู่ไม่น้อย

 

คนที่เล่นดนตรีมักจะมีจุดเริ่มต้นจากหนึ่งในสองรูปแบบ

แบบที่หนึ่งคือเริ่มหัดเล่นดนตรีด้วยตัวเอง ลองหยิบจับเครื่องดนตรีขึ้นมา ใช้ประสาทสัมผัสของการฟัง จดจำเสียง พยายามบรรเลงเครื่องดนตรีเพื่อลอกเลียนเสียงเพลงและเล่นออกมาให้เป็นดนตรี

แบบที่สองคือเริ่มจากไปที่โรงเรียนสอนดนตรี เรียนรู้ตัวโน้ต จัดหวะ ทำนอง ทฤษฎีดนตรี โดยมีอาจารย์ดนตรีเป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ จนสามารถบรรเลงเครื่องดนตรีออกมาเป็นเสียงเพลง

ดนตรีนั้นเป็นศาสตร์ที่มีทฤษฎี (เยอะมาก ๆ) แม้ปกติเราจะคุ้นชินกับทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ เช่น ทฤษฎีสัมพัทธภาพฯ ของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ทฤษฎีวิวัฒนาการจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติ ของชาลส์ ดาร์วิน เป็นต้น เชื่อว่าจริง ๆ แล้วศาสตร์ทุกแขนงนั้นมีกฎและทฤษฎีอยู่ โดยทฤษฎีต่าง ๆ นั้นเปรียบเสมือนรากฐานความเข้าใจองค์ความรู้ เอาไว้อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทำให้เราสามารถนำความรู้นั้นไปใช้และต่อยอดได้

ถ้าอย่างนั้นทุก ๆ อย่างก็เป็นวิทยาศาสตร์อย่างนั้นหรือ?

ผมมองว่าวิทยาศาสตร์คือกระบวนการของการเรียนรู้และทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เป็นการย่อยสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ให้รู้ถึงที่มาที่ไป ให้ออกมาอยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจและอธิบายได้ว่ามันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำไมมันถึงเป็นเช่นนั้น มันประกอบมาจากอะไรบ้าง พอเราเข้าใจมันแล้ว เราก็จะสามารถนำความรู้ความเข้าใจนั้นมาสื่อสารให้คนอื่นได้รับรู้ นำมันไปใช้งาน หรือจะต่อยอดพัฒนาก็ได้เช่นกัน

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นสองแบบของคนเล่นดนตรี จะเห็นได้ชัดคือนักดนตรีที่ฝึกฝนและเรียนรู้ด้วยตัวเองนั้น (มัก) จะมีปัญหาในการสื่อสารกับนักดนตรีคนอื่น ไม่ใช่เพราะว่าเค้าไม่รู้ทฤษฎีดนตรี ผมเชื่อว่าเค้ารู้ทฤษฎีดนตรีนะ เพียงแต่ทฤษฎีของเค้านั้นเป็นทฤษฎีที่เค้าคิดค้นขึ้นมาด้วยตัวเอง ซึ่งไม่ใช่ทฤษฎีสากล เราไม่สามารถบอกได้ว่าทฤษฎีใหม่นี่ถูกหรือผิด ดีกว่าหรือแย่กว่าทฤษฎีเดิมที่มีอยู่ แต่หากเราต้องการจะสื่อสารกันแล้ว การที่ต่างคนต่างมีทฤษฎีของตัวเอง (โดยไร้ซึ่งจุดเชื่อมโยง) จะทำให้คุยกันได้ลำบาก ดังนั้นทฤษฎีที่ใช้กันเป็นสากลจะทำให้เราสามารถสื่อสารและพูดคุยกับคนอื่น ๆ เป็นภาษาเดียวกัน

ทุกอย่างล้วนเป็นวิทยาศาสตร์ หรืออธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ ถ้าอย่างนั้นอะไรคือศิลปะ?

การเล่นดนตรี การวาดรูป ยังเป็นศิลปะอยู่รึเปล่า? แน่นอนว่าการเล่นดนตรี การวาดรูปก็ยังเป็นศิลปะอยู่ แต่ผมมองกว้างออกไปว่า จริง ๆ แล้ว ทุก ๆ อย่างนอกจากจะเป็นวิทยาศาสตร์แล้วก็มีความเป็นศิลป์ แม้แต่ตัววิทยาศาสตร์ก็มีศิลปะอยู่ในตัวของมันเช่นกัน

ผมมองว่าศิลปะคือกระบวนการ การสำรวจพื้นที่ใหม่ ๆ การทดลองในสิ่งที่ไม่รู้ ศิลปะคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ (ไม่ว่าจะเป็นโลกใบใหญ่ใบนี้ หรือโลกส่วนตัวเล็ก ๆ ของเราเองก็ตาม) แม้แต่การทดลองวิทยาศาสตร์เพื่อหาคำตอบอะไรบางอย่าง การที่ทอมัส เอดิสันทดลองหาวัสดุที่จะใช้เป็นไส้ของหลอดไฟนับครั้งไม่ถ้วน ผมก็มองว่ามันเป็นศิลปะที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์นะ

สำหรับคนที่ยังไม่รู้ อธิบายแบบสั้นที่สุด AI Composers คือปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถแต่งเพลงได้ เจ้าปัญญาประดิษฐ์นี้สามารถสร้างสรรบทเพลงที่นักแต่งเพลงคนหนึ่งอาจจะใช้เวลาทั้งชีวิตในการแต่งบทเพลงจำนวนนี้ได้เพียงในเวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น หนึ่งใน AI Composers ยุคแรก ๆ คือ Emily Howell ประดิษฐ์ขึ้นโดยอาจารย์ David Cope จาก UCSC เป็นที่ถกเถียงกันว่าคุณภาพของบทเพลงที่เจ้าปัญญาประดิษฐ์แต่งขึ้นนั้นจะสู้บทเพลงที่มนุษย์นั้นเป็นผู้แต่งได้หรือ? สำหรับคำถามนี้ อยากให้ลองไปฟังเพลงที่ Emily Howell แต่งดู ส่วนตัวแล้ว บอกเลยว่าผมฟังไม่รู้ว่าคนหรือปัญญาประดิษฐ์เป็นผู้แต่ง และที่สำคัญ Emily Howell ถูกสร้างขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ลูก ๆ หลาน ๆ ของ Emily Howell ก็คงจะเก่งกว่านี้ใช่ย่อยเลยหละ

## http://artsites.ucsc.edu/faculty/cope/experiments.htm
## https://youtu.be/QHJqp4SlsoU

ฉะนั้นแล้ว ดนตรีเป็นวิทยาศาสตร์ หรือศิลปะกันแน่?

มันก็เป็นทั้งสองอย่างนั้นแหละ การเข้าใจดนตรีนั้นเป็นวิทยาศาสตร์ การสร้างสรรค์ดนตรีนั้นเป็นศิลปะ แล้วสิ่งที่เจ้าปัญญาประดิษฐ์นั้นสร้างขึ้นมานั้นคือศิลปะรึเปล่า? ก่อนอื่น การสร้างปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมานั้นต้องใช้ความรู้ความเข้าใจในหลาย ๆ ศาสตร์ ตั้งแต่ความเข้าใจดนตรีที่ลึกซึ่ง ไปจนถึงความเข้าใจคอมพิวเตอร์และโปรแกรมมิ่งในระดับสูง อย่างที่บอกว่าความรู้เหล้านี้เป็นความรู้ในเชิงวิทยาศาสตร์ แต่ทีนี้พอเรานำความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้มาประกอบร่าง สร้างสรรค์สิ่งใหม่ คือเจ้าปัญญาประดิษฐ์นักแต่งเพลง ผมคิดว่าศิลปินในที่นี้คือนักประดิษฐ์ของเจ้า AI Composer นี่แหละ